อำเภอกันทรารมย์
กันทรารมย์ [กัน-ทะ-รา-รม] เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งอยู่บนเส้นทางหลักเชื่อมระหว่างจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งการขนส่งทางบก และการขนส่งทางรางรถไฟ
อนึ่ง ในอำเภอกันทรารมย์ไม่มีตำบลที่ชื่อ "กันทรารมย์" ส่วนตำบลกันทรารมย์นั้นตั้งอยู่ในเขตอำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ที่มา wikipedia
ประวัติ
อำเภอกันทรารมย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ 2443 ชื่อว่าอำเภออุไทยศีร์ษะเกษ ตั้งอยู่ที่บ้านพันทา ตำบลโพธิ์ อำเภอเมืองศรีสะเกษ มีหลวงพิศาลบรมศักดิ์ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองของท้องถิ่นนี้เป็นนายอำเภอคนแรก และได้ขึ้นการปกครองอยู่กับมณฑลอุบลราชธานี ต่อมาได้ยุบมณฑลอุบลราชธานี ตั้งเป็นจังหวัด อำเภอกลางศีร์ษะเกษ อำเภอปัจจิมศีร์ษะเกษ และอำเภออุไทยศีร์ษะเกษ จึงได้แยกย้ายกันไปตั้งอยู่แห่งใหม่
เมื่อปี พ.ศ. 2449 จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภออุไทยศีร์ษะเกษ จากบ้านพันทา ไปตั้งอยู่ที่บ้านท่าช้าง ตำบลหนองบัว อำเภอกันทรารมย์ ในปัจจุบันทางฝั่งขวาริมแม่น้ำมูล เพื่ออาศัยแม่น้ำมูลเป็นเส้นทางคมนาคมสัญจรไปมาได้สะดวกยิ่งขึ้น ตลอดทั้งการไปติดต่อราชการ จังหวัดจะได้สะดวกรวดเร็ว ปลอดภัยกว่าเดิมมาก ขณะที่กำลังก่อสร้างอาคารที่ว่าการยังไม่แล้วเสร็จ ไม่สะดวกต่อการปฏิบัติงานจึงได้ไปอาศัยศาลา วัดบ้านหนองกก ตำบลยาง ในปัจจุบันเป็น ที่ทำการชั่วคราว จนถึง พ.ศ. 2451 จึงได้ย้ายที่ทำการจากศาลาวัดบ้านหนองกก ไปปฏิบัติราชการอยู่ที่ที่ว่าการอำเภอที่ตำบลหนองบัว
เมื่อ พ.ศ. 2456 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุไทยศีร์ษะเกษ เป็นอำเภอกันทรารมย์ โดยเอาชื่อเมืองกันทรารมย์ ที่ถูกยุบลงเป็นตำบลกันทรารมย์ บ้านลุมพุก ตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ในปัจจุบัน มาเป็นชื่อของอำเภอเพราะต้องการรักษาชื่อเมืองและอนุรักษ์ชื่อ เมืองกันทรารมย์เดิม อันปรากฏในประวัติศาสตร์ไว้ คำว่า อำเภอกันทรารมย์มาจาก 2 คำรวม กันทรา และ รมย์ คำว่า กันทรา หมายความว่า ถ้ำ ซอกเขา ลำน้ำ คำว่า รมย์ หมายความว่าความร่มรื่นหรือความรื่นรมย์ กันทรารมย์จึงหมายความว่า ลำน้ำแห่งความรื่นรมย์ ซึ่งหมายถึงลำน้ำมูลหรือห้วยสำราญ
- วันที่ 12 ตุลาคม 2456 เปลี่ยนชื่ออำเภออุไทยศีร์ษะเกษ จังหวัดขุขันธ์ มณฑลอุบลราชธานี เป็น อำเภอกันทรารมย์
- วันที่ 26 ตุลาคม 2467 โอนพื้นที่ตำบลบัวน้อย และตำบลอีปาด อำเภอคง (อำเภอราษีไศล) มาขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์
- วันที่ 3 กันยายน 2476 โอนพื้นที่ตำบลตูม ของอำเภอกันทรารมย์ ไปขึ้นกับอำเภอน้ำอ้อม (อำเภอกันทรลักษ์)
- วันที่ 14 มีนาคม 2479 โอนพื้นที่หมู่ 12,13,16 (ในขณะนั้น) ของตำบลเมืองน้อย ไปขึ้นกับตำบลบัวน้อย
- วันที่ 1 เมษายน 2480 โอนพื้นที่ตำบลทาม ตำบลหนองแวง และตำบลหนองแก้ว ของอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มาขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และโอนพื้นที่หมู่ 1,2,3,4,5,6 (ในขณะนั้น) กับหมู่ 22,23 ตำบลหนองไฮ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มาขึ้นกับอำเภอกันทรารมย์
- วันที่ 2 มกราคม 2481 โอนพื้นที่หมู่ 10 (ในขณะนั้น) ของตำบลยาง ไปขึ้นกับตำบลโนนสัง
- วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2490 โอนพื้นที่ตำบลตำแย (ยกเว้นหมู่บ้านบัวระรมย์) ของอำเภอกันทรารมย์ ไปขึ้นกับอำเภอเมืองศรีสะเกษ และโอนพื้นที่หมู่บ้านเขวาทะนัง ของตำบลบก อำเภอกันทรารมย์ ไปขึ้นกับตำบลเสียว อำเภอกันทรลักษ์
- วันที่ 10 มิถุนายน 2490 ตั้งตำบลตองปิด แยกออกจากตำบลละเอาะ และตำบลจาน ตั้งตำบลหนองบัว แยกออกจากตำบลดู่ และตำบลยาง ตั้งตำบลหนองแวง แยกออกจากตำบลหนองแก้ว ตั้งตำบลเมืองน้อย แยกออกจากตำบลละทาย และตำบลบัวน้อย ตั้งตำบลอีปาด แยกออกจากตำบลบัวน้อย ตั้งตำบลทาม แยกออกจากตำบลละทาย
- วันที่ 28 พฤศจิกายน 2499 จัดตั้งสุขาภิบาลกันทรารมย์ ในเขตท้องที่บางส่วนของตำบลดูน
- วันที่ 30 ธันวาคม 2501 ตั้งตำบลโพธิ์ แยกออกจากตำบลบก ตั้งตำบลโนนผึ้ง แยกออกจากตำบลโนนสัง
- วันที่ 1 กันยายน 2513 ตั้งตำบลหนองกุง แยกออกจากตำบลโนนค้อ
- วันที่ 6 กันยายน 2520 แยกพื้นที่ตำบลโนนค้อ ตำบลโพธิ์ ตำบลบก และตำบลหนองกุง อำเภอกันทรารมย์ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอโนนคูณ และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอกันทรารมย์
- วันที่ 7 มกราคม 2529 แยกพื้นที่ตำบลน้ำเกลี้ยง ตำบลละเอาะ ตำบลตองปิด และตำบลเขิน อำเภอกันทรารมย์ มาตั้งเป็น กิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง และให้ขึ้นการปกครองกับอำเภอกันทรารมย์
- วันที่ 10 ตุลาคม 2529 ตั้งตำบลเขิน แยกออกจากตำบลน้ำเกลี้ยง
- วันที่ 11 ธันวาคม 2529 ตั้งตำบลเหล่ากวาง แยกออกจากตำบลโพธิ์
- วันที่ 31 ธันวาคม 2530 ยกฐานะกิ่งอำเภอโนนคูณ อำเภอกันทรารมย์ เป็น อำเภอโนนคูณ
- วันที่ 2 กรกฎาคม 2530 เปลี่ยนแปลงเขตสุขาภิบาลกันทรารมย์ เพื่อความเหมาะสมในการบริหารกิจการและการทะนุบำรุงท้องถิ่น
- วันที่ 18 ตุลาคม 2532 ตั้งตำบลคำเนียม แยกออกจากตำบลดูน
- วันที่ 17 สิงหาคม 2533 ตั้งตำบลรุ่งระวี แยกออกจากตำบลละเอาะ และตำบลเขิน
- วันที่ 3 มิถุนายน 2537 ยกฐานะจากกิ่งอำเภอน้ำเกลี้ยง อำเภอกันทรารมย์ เป็น อำเภอน้ำเกลี้ยง
- วันที่ 25 พฤษภาคม 2542 ยกฐานะจากสุขาภิบาลกันทรารมย์ เป็นเทศบาลตำบลกันทรารมย์ ด้วยผลของกฎหมาย
ที่มา tungjaigallery
ที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอกันทรารมย์ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจังหวัด ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 27 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอเขื่องใน (จังหวัดอุบลราชธานี)
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ และอำเภอสำโรง (จังหวัดอุบลราชธานี)
- ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอโนนคูณและอำเภอน้ำเกลี้ยง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอเมืองศรีสะเกษและอำเภอยางชุมน้อย
การแบ่งเขตการปกครอง
การปกครองส่วนภูมิภาค
อำเภอกันทรารมย์แบ่งพื้นที่การปกครองย่อยออกเป็น 16 ตำบล 175 หมู่บ้าน ได้แก่
1. | ดูน | (Dun) | 14 หมู่บ้าน | 9. | เมืองน้อย | (Mueang Noi) | 10 หมู่บ้าน |
2. | โนนสัง | (Non Sang) | 14 หมู่บ้าน | 10. | อีปาด | (I Pat) | 5 หมู่บ้าน |
3. | หนองหัวช้าง | (Nong Hua Chang) | 12 หมู่บ้าน | 11. | บัวน้อย | (Bua Noi) | 11 หมู่บ้าน |
4. | ยาง | (Yang) | 12 หมู่บ้าน | 12. | หนองบัว | (Nong Bua) | 7 หมู่บ้าน |
5. | หนองแวง | (Nong Waeng) | 11 หมู่บ้าน | 13. | ดู่ | (Du) | 8 หมู่บ้าน |
6. | หนองแก้ว | (Nong Kaeo) | 7 หมู่บ้าน | 14. | ผักแพว | (Phak Phaeo) | 18 หมู่บ้าน |
7. | ทาม | (Tham) | 11 หมู่บ้าน | 15. | จาน | (Chan) | 15 หมู่บ้าน |
8. | ละทาย | (Lathai) | 9 หมู่บ้าน | 16. | คำเนียม | (Kham Niam) | 10 หมู่บ้าน |
การปกครองส่วนท้องถิ่น
ท้องที่อำเภอกันทรารมย์ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 17 แห่ง ได้แก่
- เทศบาลตำบลกันทรารมย์ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลดูน
- องค์การบริหารส่วนตำบลดูน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดูน (นอกเขตเทศบาลตำบลกันทรารมย์)
- องค์การบริหารส่วนตำบลโนนสัง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนสังทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองหัวช้าง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองหัวช้างทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลยาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลยางทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองแวงทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแก้ว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองแก้วทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลทาม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทามทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลละทาย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลละทายทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลเมืองน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลเมืองน้อยทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลอีปาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลอีปาดทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลบัวน้อย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบัวน้อยทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองบัวทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลดู่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลดู่ทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลผักแพว ครอบคลุมพื้นที่ตำบลผักแพวทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลจาน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลจานทั้งตำบล
- องค์การบริหารส่วนตำบลคำเนียม ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคำเนียมทั้งตำบล
การขนส่ง
อำเภอกันทรารมย์เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟกันทรารมย์ โดยเป็นสถานีรถไฟที่มีผู้โดยสารมาใช้บริการจำนวนมาก และมีขบวนรถไฟโดยสารจอดทุกขบวน อาทิ รถด่วนพิเศษอีสานวัตนา (23), รถด่วนพิเศษดีเซลรางที่ 21 และรถด่วนดีเซลรางที่ 71
อ้างอิง